วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของจังหวะ Cha-Cha-Cha


จังหวะ ชา ชา ช่า
          จังหวะ ชา ชา ช่า เป็นจังหวะลีลาศจังหวะหนึ่งในประเภทลาตินอเมริกัน ที่ได้พัฒนามาจาก จังหวะ แมมโบ้ (MAMBO) ชื่อ จังหวะนี้ตั้งขึ้นโดยการเลียนเสียงของ รองเท้า ขณะที่กำลังเต้นรำของสตรีชาวคิวบา จังหวะ ชา ชา ช่า ได้ถูกพบเห็นเป็นครั้งแรก ที่ประเทศอเมริกา แล้วแพร่หลายไป ทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวะแมมโบ้ เสื่อมความนิยมลง โดยหันมานิยมจังหวะ ชา ชา ช่า ซึ่งได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
         จังหวะ ชา ชา ช่า ได้เข้ามาที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2498 โดยชาวฟิลิปปินส์ชื่อ เออร์นี่ ซึ่งเป็นนักดนตรีของวงดนตรีคณะ ซีซ่า วาเลสโกนายเออร์นี่ ได้โชว์ลีลาการเต้น ชา ชา ช่า ประกอบการ เขย่ามาลากัส จากลีลาการเต้นนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับนักเต้นและครูลีลาศของไทย จึงได้ขอให้ นายเออร์นี่ ช่วยสอนลีลาการเต้น ชา ชา ช่า การเต้นของนายเออร์นี่ แม้จะผิดหลักมาตรฐานสากล แต่ก็ยังได้รับความนิยมเต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ภายหลังจะได้นำเอารูปแบบการเต้นที่เป็นมาตรฐานสากลเข้ามาสอนแทน ก็ตาม
การเต้น ชา ชา ช่า ไม่ใช้พื้นที่มากนักโดยทั่วไปจะเต้นเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ยกเว้นในบางลวดลาย อาจใช้พื้นที่พอสมควร
การก้าวเท้าและการเคลื่อนไหวร่างกาย
          การก้าวเท้าในจังหวะ ชา ชา ช่า จะต้องให้ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นก่อนแล้วจึงค่อยลงน้ำหนักทีหลัง การเต้นในจังหวะนี้ส่วนใหญ่จะใช้ปลายเท้ามากที่สุด การใช้ขาสองข้างต้องสัมพันธ์กัน เมื่อก้าวเท้าใดเข่านั้นจะงอเล็กน้อย เมื่อเท้าได้วางราบลงบนพื้นแล้วเข่าจะตึงและรับน้ำหนัก ส่วนเข่าอีกข้างหนึ่งจะงอเพื่อเตรียมก้าวเดินต่อไป และเมื่อวางเท้าลงเข่าก็จะตึง ทำอย่างนี้สลับกันเรื่อยไป ดังนั้นจะมีการ สับเปลี่ยนการตึงและงอของช่วงขา พร้อมทั้งลดลงและยกขึ้น ของส้นเท้าสลับกันตามลำดับ การปฏิบัติในลักษณะนี้จะทำให้สะโพกบิดไปมาดูสวยงาม แต่อย่าให้เป็นในลักษณะ เจตนานัก เพราะจะทำให้ไม่เป็นธรรมชาติและเป็นภาพที่ไม่น่าดู สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึกในระยะแรก ควรฝึกฝนการเต้นให้ถูกต้องตามจังหวะดนตรีก่อน เมื่อเกิดความชำนาญแล้วจึงค่อยฝึกการก้าวให้เกิดความสวยงามภายหลัง




การช่วยฟื้นคืนชีพ

ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR)
                 หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic life support) ได้แก่ การผายปอด และการนวดหัวใจภายนอก

ภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น
ภาวะหยุดหายใจ (respiratory arrest) และภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) - เป็นภาวะที่มีการหยุดการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนเลือด ส่วนมากมักจะพบว่ามีการหยุดหายใจก่อนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของการหยุดหายใจ
1.  ทางเดินหายใจอุดตันจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ การแขวนคอ การถูกบีบรัดคอ การรัดคอ เป็นต้น ในเด็กเล็กสาเหตุจากการหยุดหายใจที่พบได้มากที่สุดคือ การสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลม เช่น ของเล่นชิ้นเล็กๆ เมล็ดถั่ว เป็นต้น
2.  มีการสูดดมสารพิษ แก็สพิษ ควันพิษ
3. การถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงดูด
4. การจมน้ำ
5. การบาดเจ็บที่ทรวงอก ทำให้ทางเดินหายใจได้รับอันตรายและเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ
6. โรคระบบประสาท เช่น บาดทะยัก ไขสันหลังอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต
7. การได้รับสารพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ต่อยบริเวณคอ หน้า ทำให้มีการบวมของเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจและหลอดลมมีการหดเกร็ง
8. การได้รับยากดศูนย์ควบคุมการหายใจ เช่น มอร์ฟีน ฝิ่น โคเคน บาร์บิทูเรต ฯลฯ
9. โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน
10. มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะหายใจวายจากสาเหตุต่างๆ
สาเหตุของหัวใจหยุดเต้น
1. หัวใจวายจากโรคหัวใจ จากการออกกำลังกายมากเกินปกติ หรือตกใจหรือเสียใจกระทันหัน
2. มีภาวะช็อคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จากการสูญเสียเลือดมาก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ
3. ทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
4. การได้รับยาเกินขนาดหรือการแพ้
ข้อบ่งชี้ในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
1. ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ โดยที่หัวใจยังคงเต้นอยู่ประมาณ 2-3 นาที ให้ผายปอดทันที จะช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนอย่างถาวร
2. ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า clinical death การช่วยฟื้นคืนชีพทันทีจะช่วยป้องกันการเกิด biological death คือ เนื้อเยื่อโดยเฉพาะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน
           ระยะเวลาของการเกิด biological death หลังจาก clinical death ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไป มักจะเกิดช่วง 4-6 นาที หลังเกิด clinical death ดังนั้นการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพจึงควรทำภายใน 4 นาที
ลำดับขั้นในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่สำคัญ คือ A B C ซึ่งต้องทำตามลำดับคือ
1. A - Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
2. B - Breathing : การช่วยให้หายใจ
3. C - Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง

1. A : Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติการขั้นแรก ที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะเนื่องจากโคนลิ้นและกล่องเสียงมีการตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ป่วยที่หมดสติ ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการดัดคางขึ้นร่วมกับการกดหน้าผากให้หน้าแหงนเรียกว่า "head tilt chin lift"
ภาพที่ 2 ทางเดินหายใจที่เปิดและปิด 
ภาพที่ 3 head tilt chin lift
ในกรณีที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอหัก หรือในรายที่สงสัย ควรใช้วิธี "jaw thrust maneuver" โดยการดึงขากรรไกรทั้งสองข้างขึ้นไปข้างบน ผู้ช่วยเหลืออยู่เหนือศีรษะผู้ป่วย

ภาพที่ 4 jaw thrust maneuver
2. B : Breathing คือ การช่วยหายใจ เนื่องจากการหายใจหยุด ร่างกายจะมีออกซิเจนคงอยู่ในปอดและกระแสเลือด แต่ไม่มีสำรองไว้ใช้ดังนั้น เมื่อหยุดหายใจ จึงต้องช่วยหายใจ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดผู้ป่วยได้ ซึ่งออกซิเจนที่เป่าออกไปนั้นมีออกซิเจนประมาณ 16-17 % ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในร่างกาย สามารถทำได้หลายวิธี คือ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth) เป่าจมูก (mouth to nose) และวิธีการกดหลังยกแขนของโฮลเกอร์ - นิลสัน (back pressure arm lift or Holger - Nielson method) ทำได้ดังนี้
2.1 กรณีเป่าปาก บีบจมูกของผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือหายใจเข้าปอดลึก ๆ ซัก 2-3 ครั้ง หายใจ เข้าเต็มที่แล้วประกบปากให้แนบสนิทกับปากของผู้ป่วย แล้วเป่าลมหายใจเข้าไปในปอดให้เต็มที่

ภาพที่ 5 การผายปอดด้วยวิธี Mouth to Mouth
2.2 กรณีเป่าจมูก ใช้ในรายที่มีการบาดเจ็บในปาก หรือในเด็กเล็ก ต้องปิดปากของผู้ป่วยก่อน และเป่าลมหายใจเข้าทางจมูกแทน

ภาพที่ 6 การผายปอดด้วยวิธี Mouth to Nose
ขณะที่เป่าให้เหลือบมองยอดอกของผู้รับบริการด้วยว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ การเป่าลมหายใจของผู้ช่วยเหลือผ่านทางปากหรือจมูก จะต้องทำอย่างช้าๆ ปล่อยปากหรือผู้ช่วยเหลือออกจากปากหรือจมูกของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออก ให้ ผายปอด 2 ครั้ง ๆ ละ 1-1.5 วินาที (แต่ละครั้งได้ออกซิเจน 16 %) อัตราเร็วในการเป่า คือ 12 -15 ครั้ง / นาที ใกล้เคียงกับการหายใจปกติ
3. C : Circulation คือการนวดหัวใจภายนอก ทำในรายที่ประเมินภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยการจับชีพที่ carotid artery แล้วไม่พบว่ามีการเต้นของชีพจร ก็จะช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดโดยการกดนวดหัวใจภายนอก (cardiac massage) โดยมีหลักการคือ กดให้กระดูกหน้าอก (sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอัน ถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ

วิธีนวดหัวใจ
1. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ บนพื้นแข็ง ถ้าพื้นอ่อนนุ่มให้สอดไม้กระดานแข็งใต้ลำตัว
2. วัดตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการนวดหัวใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางข้างที่ถนัด วาดจากขอบชายโครงล่างของผู้ป่วยขึ้นไป จนถึง ปลายกระดูกหน้าอก วัดเหนือปลายกระดูกหน้าอกขึ้นมา 2 นิ้วมือ แล้วใช้สันมือข้างที่ไม่ถนัดวางบนตำแหน่งดังกล่าว และใช้สันมือข้างที่ถนัดวางทับลงไป และเกี่ยวนิ้วมือให้นิ้วมือที่วางทับแนบชิดในร่องนิ้วมือของมือข้างล่าง (interlocked fingers) ยกปลายนิ้วขึ้นจากหน้าอก
3. ผู้ช่วยเหลือยืดไหล่และแขนเหยียดตรง จากนั้นปล่อยน้ำหนักตัวผ่านจากไหล่ไปสู่ลำแขนทั้งสองและลงไปสู่กระดูกหน้าอกในแนวตั้งฉากกับลำตัวของผู้เจ็บป่วยในผู้ใหญ่และเด็กโต กดลงไปลึกประมาณ 1.5 - 2 นิ้ว ให้กดลงไปในแนวดิ่ง และอย่ากระแทก
4. ผ่อนมือที่กดขึ้นให้เต็มที่เพื่อให้ทรวงอกมีการขยายตัว และหัวใจได้รับเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจน ขณะที่ผ่อนมือไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นสูง มือยังคงสัมผัสอยู่ที่กระดูกหน้าอก อย่ายกมือออกจากหน้าอก จะทำให้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย และมีเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้มีการไหลเวียนเลือดในร่างกาย
5. การกดนวดหัวใจจะนวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที ถ้าน้อยกว่านี้จะไม่ได้ผล

ภาพที่ 9 แสดงการวัดตำแหน่ง และการกดนวดหัวใจภายนอก



การปฏิบัติในการช่วยฟืนคืนชีพเบื้องต้น

1. เมื่อพบคนนอนอยู่ คล้ายหมดสติ ต้องลองตรวจดูว่าหมดสติจริงหรือไม่ โดยการเรียกและเขย่าตัว เขย่าหรือตบที่ไหล่ ถ้าหมดสติจะไม่มีการโต้ตอบ หรือมีเสียงคราง หรือมีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย

2. ประเมินการหายใจโดยการทำ look listen and feel - look คือ ดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก และหน้าท้องว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ หรือ หายใจหรือไม่
             - listen คือ ฟังเสียงลมหายใจ โดยเอียงหูของผู้ช่วยเหลือเข้าไปใกล้บริเวณจมูกและปากของผู้ป่วย ว่าได้ยินเสียงอากาศผ่านออกมาทางจมูกหรือปากหรือไม่
            - feel คือ สัมผัส โดยการใช้แก้มของผู้ช่วยเหลือสัมผัสกับความรู้สึกว่ามีลมหายใจที่ผ่านออกจากปากหรือจมูก อาจใช้สำลีหรือวัสดุบางเบาจ่อบริเวณจมูก

3. ถ้าพบว่าไม่หายใจให้เรียกขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น พร้อมทั้งจัดท่านอนหงายราบบนพื้นแข็ง เริ่มขั้นตอนการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
ขั้นตอนที่ 1
Airway โดยการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ด้วยวิธี head tilt chin lift หรือ jaw thrust maneuver (ถ้ามีการหักของกระดูกสันหลังส่วนคอ)

 4. ทดสอบการหายใจโดยการทำ look listen and feel อีกครั้งหนึ่งถ้ายังไม่หายใจ ให้ทำขั้นตอนต่อไป คือ
ขั้นตอนที่ 2
Breathing คือ เป่าลมหายใจ 2 ครั้ง

5. ทดสอบว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ด้วยการจับชีพจร ถ้าไม่มีการเต้นของหัวใจ เป่าปากอีก 2 ครั้ง แล้วทำ cardiac massage ด้วยอัตราเร็ว 100 ครั้ง/นาที โดยการนับ 1 และ2 และ 3 และ………จนถึง 30 ครั้ง

6. ทำสลับกันอย่างนี้ ไปจนครบ 4 รอบ (1 นาที) จึงประเมินการหายใจและการเต้นของชีพจร และประเมินอีก ทุก 1 นาที

7. ถ้ามีผู้ช่วยเหลือมาช่วยอีก ให้แบ่งการทำหน้าที่กัน เช่น ผู้ช่วยเหลือคนที่ 1 ผายปอด ผู้ช่วยเหลือคนที่ 2 กดนวดหัวใจ ถ้าผู้ช่วยเหลือแต่ละคนอาจเหนื่อยและต้องการเปลี่ยนหน้าที่กัน โดยการตะโกนว่า "เปลี่ยน" ก็จะสลับหน้าที่กัน

ภาพที่ 12 การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ 2 คน
8. ให้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีบุคลากรนำอุปกรณ์มาช่วยเหลือเพิ่มเติม และรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
การจัดท่าผู้ป่วยหลังปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ
หลังปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ จนกระทั่งผู้ป่วยมีชีพจรและหายใจได้เองแล้ว แต่ยังหมดสติอยู่ หรือพบผู้ป่วยหมดสติ แต่ยังมีชีพจรและหายใจอยู่ ควรจัดให้อยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position) ซึ่งท่านี้จะช่วยป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ช่วยให้น้ำลายหรือเสมหะไหลออกจากปากได้ ทำให้ปลอดภัยจากการสูดสำลัก การจัดท่าทำได้ดังนี้

1. นั่งคุกเข่าข้าง ๆ ผู้ป่วย ทำ head tilt chin lift เหยียดขาผู้ป่วยให้ตรง จับแขนด้านใกล้ตัวงอและหงายมือขึ้นดังภาพ

ภาพที่ 18 การจับแขนด้านใกล้ตัว
2. จับแขนด้านไกลตัวข้ามหน้าอกมาวางมือไว้ที่แก้มอีกข้างหนึ่ง

ภาพที่ 19 การจับแขนด้านไกลตัว
3. ใช้แขนอีกข้างหนึ่งจับขาไว้ ดึงพลิกตัวผู้ป่วยให้เข่างอข้ามตัวมาด้านที่ผู้ปฏิบัติอยู่ ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าตะแคง

ภาพที่ 20 การจับดึงให้พลิกตัว
4. จับศีรษะแหงนเล็กน้อย เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ปรับมือให้อยู่ใต้แก้ม และจัดขาให้งอเล็กน้อย

อันตรายของการทำ CPR ไม่ถูกวิธี
1. วางมือผิดตำแหน่ง ทำให้ซี่โครงหัก , xiphoid หัก , กระดูกที่หักทิ่มโดนอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ม้าม เกิดการตกเลือดถึงตายได้
2. การกดด้วยอัตราเร็วเกินไป เบาไป ถอนแรงหลังกดไม่หมด ทำให้ปริมาณเลือดไปถึงอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้น้อย ทำให้ขาดออกซิเจน
3. การกดแรงและเร็วมากเกินไป ทำให้กระดูกหน้าอกกระดอนขึ้น ลงอย่างรวดเร็ว หัวใจช้ำเลือดหรือกระดูกหักได้
4. การกดหน้าอกลึกเกินไป ทำให้หัวใจชอกช้ำได้
5. การเปิดทางเดินหายใจไม่เต็มที่ เป่าลมมากเกินไป ทำให้ลมเข้ากระเพาะอาหาร เกิดท้องอืด อาเจียน ลมเข้าปอดไม่สะดวก ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ถ้ามีอาการอาเจียนเกิดขึ้นก่อน หรือ ระหว่างการทำ CPR ต้องล้วงเอาเศษอาหารออกก่อน มิฉะนั้นจะเป็นสาเหตุของ การอุดตันของทางเดินหายใจ (airway obstruction) การช่วยหายใจไม่ได้ผล เกิดการขาดออกซิเจน ถ้ามีอาการท้องอืดขึ้น ระหว่างการทำ CPR ให้จัดท่าเปิดทางเดินหายใจใหม่ และช่วยการหายใจด้วยปริมาณลมที่ไม่มากเกินไป



ระบบประสาท

          ระบบประสาท (nervous system) คือ ระบบการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของสัตว์ ทำให้สัตว์สามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยรวบรวมข้อมูลเพื่อให้สามารถตอบสนองได้ สัตว์ชั้นต่ำบางชนิด เช่น ฟองน้ำ ไม่มีระบบประสาท สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดเริ่มมีระบบประสาท สัตว์ชั้นสูงขึ้นมาจะมีโครงสร้างของระบบประสาทซับซ้อนยิ่งขึ้น ระบบประสาทของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทรอบนอก
           ระบบประสาทส่วนกลาง
ระบบประสาทส่วนกลาง(the central nervous system หรือ somatic nervous system ) เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย ซึ่งทำงานพร้อมกันทั้งในด้านกลไกและทางเคมีภายใต้อำนาจจิตใจ ซึ่งประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง โดยเส้นประสาทหลายล้านเส้นจากทั่วร่างกายจะส่งข้อมูลในรูปกระแสประสาทออกจากบริเวณศูนย์กลาง มีอวัยวะที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. สมอง(brain) เป็นส่วนที่ใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ของระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่ควบคุมการทำกิจกรรมทั้งหมดของร่างกาย เป็นอวัยวะชนิดเดียวที่แสดงความสามารถด้านสติปัญญา การทำกิจกรรมหรือการแสดงออกต่างๆ สมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่สำคัญแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
1.1 เซรีบรัมเฮมิสเฟียร์(cerebrum hemisphere) คือสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่ซับซ้อนเกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์ ควบคุมความคิด ความจำ และความเฉลียวฉลาด เชื่อมโยงความรู้สึกต่างๆ เช่น การได้ยิน การมองเห็น การรับกลิ่น การรับรส การรับสัมผัส เป็นต้น
1.2 เมดัลลาออบลองกาตา(medulla oblongata) คือส่วนที่อยู่ติดกับไขสันหลัง ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติ เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การไอ การจามการกะพริบตา ความดันเลือด เป็นต้น
1.3 เซรีเบลลัม(cerebellum) คือสมองส่วนท้าย เป็นส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและการทรงตัว ช่วยให้เคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ เช่น การเดิน การวิ่ง การขี่จักรยาน เป็นต้น
ภาพที่ 1 แสดงสมอง
2.ไขสันหลัง (spinal cord) เป็นเนื้อเยื่อประสาทที่ทอดยาวจากสมองไปภายในโพรงกระดูกสันหลัง กระแสประสาทจากส่วนต่างๆ ของร่างกายจะผ่านไขสันหลัง มีทั้งกระแสประสาทเข้า และกระแสประสาทออกจากสมอง และกระแสประสาทที่ติดต่อกับไขสันหลังโดยตรง
ภาพที่ 2 แสดงกระดูกสันหลัง

3. เซลล์ประสาท(neuron) เป็นหน่วนที่เล็กที่สุดของระบบประสาท เซลล์ประสาทมีเยื่อหุ้มเซลล์ไซโทพลาสซึมและนิวเคลียสเหมือนเซลล์อื่นๆ แต่มีรูปร่างและลักษณะแตกต่างออกไปเซลล์ประสาทประกอบด้วยตัวเซลล์และเส้นใยประสาทที่มี 2 แบบคือ เดนไดรต์(dendrite) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์และแอกซอน(axon)ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากตัวเซลล์ไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ เซลล์ประสาทจำแนกตามหน้าที่การทำงานได้ 3 ชนิด คือ

3.1 เซลล์ประสาทรับความรู้สึก รับความรู้สึกจากอวัยวะสัมผัส เช่น จมูก ตา หู ผิวหนัง ส่งกระแสประสาทผ่านเซลล์ประสาทประสานงาน

3.2 เซลล์ประสาทประสาน เป็นตัวเชื่อมโยงกระแสประสาทระหว่างเซลล์รับความรู้สึกกับสมอง ไขสันหลัง และเซลล์ประสาทสั่งการ พบในสมองและไขสันหลังเท่านั้น

3.3 เซลล์ประสาทสั่งการ รับคำสั่งจากสมองหรือไขสันหลัง เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ

ภาพที่ 3 แสดงการรับคำสั่งของเซลล์ประสาท

          การทำงานของระบบประสาท

ระบบประสาทของสัตว์มีกระดูกสันหลังถ้าใช้โครงสร้างเป็นเกณฑ์ก็แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ
1) ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) ได้แก่ สมองและไขสันหลัง
2) ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral Nervous System) ได้แก่ เส้นประสาทสมองและเส้นประสาทไขสันหลัง 31 คู่
ระบบประสาททั้ง 2 ระดับนี้ ถ้าพิจารณาตามลักษณะการทำงานแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ
(1) ระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System หรือ SNS) เป็นระบบประสาทที่ทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ ได้แก่ การทำงานของสมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทสมอง เส้นประสาทไขสันหลังที่นำคำสั่งไปยังหน่วยปฏิบัติงานที่เป็นกล้ามเนื้อลายหรือกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeleton Muscle) ซึ่งสามารถควบคุมการทำงานได้
ลำดับการทำงานของระบบประสาทในอำนาจจิตใจ เริ่มต้นจากกระแสประสาทที่ส่งผ่านเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเข้าไปยังไขสันหลัง และถูกส่งขึ้นไปที่ศูนย์กลางออกคำสั่งที่สมองส่วนเซรีบรัมแล้วส่งกลับผ่านไขสันหลังไปตามเซลล์ประสาทนำคำสั่งซึ่งจะนำกระแสประสาทดังกล่าวไปแสดงผลที่หน่วยปฏิบัติงาน ซึ่งถ้าแยกองค์ประกอบของระบบประสาทเป็นหน่วยต่าง ๆ ที่ทำงานประสานกันแล้วจะมีลำดับการทำงานดังแผนภาพ
ภาพที่ 4 แผนภาพแสดงการทำงานของระบบประสาท
จากแผนภาพการทำงานของระบบประสาท จะเห็นได้ว่ามีหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่ 5 หน่วย แต่ในบางกรณีกระแสประสาทที่ส่งผ่านเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเข้ามายังไขสันหลัง สามารถส่งกระแสประสาทไปกระตุ้นเซลล์ประสาทนำคำสั่งให้เกิดกระแสประสาท แล้วส่งไปยังหน่วยปฏิบัติงานโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องมีหน่วยประสานงานในสมองและไขสันหลังแต่ก็สามารถทำให้เกิดการตอบสนองได้เรียกว่า การตอบสนองแบบรีเฟลกซ์ (Reflex Action) ซึ่งมีไขสันหลังเป็นศูนย์กลางของการตอบสนอง ในการตอบสนองนี้ต้องอาศัยการทำงานแบบเป็นวงจรของระบบประสาทที่เรียกว่า รีเฟลกซ์อาร์ก (Reflex Arc) ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ
1. รีเฟลกซ์อาร์กอย่างง่าย (Monosynaptic Reflex Arc) ประกอบด้วยเซลล์ประสาทเพียง 2 เซลล์ คือ เซลล์ประสาทรับความรู้สึกและเซลล์ประสาทนำคำสั่ง ซึ่งมีไซแนปส์ติดต่อกันโดยตรงที่ไขสันหลัง
2. รีเฟลกซ์อาร์กอย่างซับซ้อน (Polysynaptic Reflex Arc) เป็นวงจรของระบบประสาทที่ประกอบขึ้นด้วยเซลล์ประสาท 3 เซลล์ คือ เซลล์ประสาทรับความรู้สึก เซลล์ประสาทประสานงาน และเซลล์ประสาทนำคำสั่ง มีไซแนปส์เกิดขึ้น 2 แห่ง คือ ระหว่างเซลล์ประสาทรับความรู้สึกกับเซลล์ประสาทประสานงาน และระหว่างเซลล์ประสาทประสานงานกับเซลล์ประสาทนำคำสั่ง
การตอบสนองแบบรีเฟลกซ์ เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อมโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องผ่านส่วนของสมองที่เกี่ยวกับความคิด เช่น เมื่อมือไปจับวัตถุที่ร้อนจะกระตุกมือหนีจากวัตถุนั้นทันที การเกิดปฏิกิริยารีเฟลกซ์มีประโยชน์ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย ช่วยทำให้การทำหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีความสัมพันธ์กันและสามารถทำให้ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกร่างกาย หน่วยปฏิบัติงานของปฏิกิริยารีเฟลกซ์อาจเป็นกล้ามเนื้อเรียบก็ได้ หรือต่อมที่อยู่ภายในร่างกายก็ได้ เช่น เมื่อมีอาหารประเภทโปรตีนตกถึงกระเพาะอาหารจะมีผลกระตุ้นแบบรีเฟลกซ์ให้มีการหลั่งน้ำย่อยออกมาจากผนังกระเพาะอาหาร การกระพริบตา การไอ การจาม การดูดนมของทารกมีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ในแม่ซึ่งจะมีผลกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมที
(2) ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System หรือ ANS) เป็นระบบประสาทที่ทำงานอยู่ภายนอกอำนาจจิตใจ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน (Visceral Nervous System) ที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary) เช่น กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) และเนื้อเยื่อที่ประกอบกันเป็นต่อม (Grandula Tissue) ในร่างกาย เป็นระบบประสาทที่มีศูนย์ควบคุมอยู่ที่สมองเมดัลลา ออบลองกาตา และไขสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ แบ่งย่อยออกเป็น 2 ระบบ คือ
1. ระบบซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ประกอบด้วยเส้นประสาทที่มีศูนย์ควบคุมอยู่ที่ไขสันหลัง ส่วนคอ อก เอว และส่วนที่อยู่เหนือกระเบนเหน็บขึ้นมา (Thoraco-lumber Sympathetic) มีแขนงประสาทก่อนถึงปมประสาท (Preganglionic Fiber) เป็นเส้นสั้น ๆ ที่ปลายแอกซอนของเซลล์ประสาทนี้จะหลั่งสารเคมีซึ่งเป็นสารสื่อประสาทพวกแอซีทิลโคลีน (Acetycholine) ส่วนแขนงของเซลล์ประสาทหลังปม (Postganglionic Fiber) เป็นเส้นยาว และที่ปลายแอกซอนจะหลั่งสารสื่อประสาทพวกอะดรีนาลีน (Adrenaline) แต่อาจมีบางแขนงที่สามารถหลั่งแอซีทิลโคลีนได้
2. ระบบพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) ประกอบด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 7, 9 และ 10 ที่แตกออกมาจากสมองส่วนกลาง ส่วนเมดัลลา ออบลองกาตา และเส้นประสาทที่มาจากกระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ เส้นประสาทในระบบนี้มีแขนงของเส้นประสาทก่อนถึงปมประสาทเป็นเส้นยาว ที่ปลายเซลล์จะหลั่งสารสื่อประสาทพวกแอซีทิลโคลีน ส่วนแขนงประสาทหลังปมเป็นเส้นสั้น ๆ และที่ปลายเซลล์จะหลั่งสารสื่อประสาทพวกแอซีทิลโคลีนเช่นกัน


ที่มา http://www.esanpt1.go.th/nites/body-wbi/body-wbi/lesson-prasate.htm
http://www.thaigoodview.com/library/contest2551/science04/46/2/nerve/content/spinal_cord1.html
ระบบประสาท 
การช่วยฟื้นคืนชีพ 
ประวัติความเป็นมาของจังหวะ cha-cha-cha
รายวิชา สุขศึกษาและ พลศึกษา รหัสวิชา พ 30106 
ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554



จัดทำโดย
นส. กรวินท์   เจริญสุข เลขที่ 1 
นส. ปวันรัตน์ ตั้งสีฟ้า เลขที่ 4
นส. วิสสุตา   อุปลา เลขที่ 7 
นาย จิรสิทธิ์  จิตนศักดิ์ เลขที่ 11
นาย ณตภณ มั่นประเสริฐ เลขที่ 12
ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ห้อง 6